เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจของจังหวัด และเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 8 ของประเทศ เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้
เดิมเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดรูปแบบการปกครองแบบสุขาภิบาล ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ระบอบสมบูรณายาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงได้มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลฉบับแรกขึ้น คือ พระราชบัญญัติระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ซึ่งมีผลทำให้สุขาภิบาลเมือง สุราษฎร์ธานีได้รับการยก ฐานะเป็นเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2478 มีพื้นที่ 2.67 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่14 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ได้ขยายเทศบาลทำให้มีพื้นที่ 6.95 ตารางกิโลเมตร ต่อมาท้องถิ่นมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดชุมชนและย่านการค้าทั้งภายในเขตและนอกเขตเทศบาล ซึ่งติดกับเขตเทศบาล มีสภาพคล้ายคลึงกัน อีกทั้งเป็นที่ตั้งของการปกครองระดับ จังหวัด ในขณะเดียวกันพื้นที่ตำบลใกล้เคียงก็มีความเจริญต่อเนื่องเป็นชุมชนเดียวกันกับเทศบาล จึงได้ขยายเขตตามพระราชกฤษฎีกาการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ที่ 111 ตอนที่ 59 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2537 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ครอบคลุมพื้นที่ 68.97 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบัน จำนวนประชากร 127,542 คน (พ.ศ. 2552)
วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2550 นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2550 เรื่อง เปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี เป็นเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ดวงตราสัญลักษณ์ของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
เป็นรูปโล่ห์มีปีกสมอเทอดรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความหมายว่า เทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองท่า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำและทะเล ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย
ประชากร
เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี มีประชากรประมาณ 127,753 คน เป็นชาย 60,812 คน เป็นหญิง 66,684 คน จัดเป็นเขตเทศบาลนครที่มีจำนวนประชากรเบาบางที่สุดในประเทศไทย เนื้อที่ 68.97 ตร.กม. เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นอู่ต่อเรือรบ ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช และรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย
ภูมิประเทศ
เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ริมบริเวณที่ราบแม่น้ำตาปี และเป็นที่บรรจบของลำน้ำหลายสาย ได้แก่ คลองท่ากูบและคลองมะขามเตี้ยที่ไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำตาปีบริเวณเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ซึ่งบริเวณ นี้แม่น้ำตาปี ยังได้แยกออกเป็น 2 สาย ไหลลงสู่ทะเล คือ แม่น้ำตาปี และคลองฉนาก
พื้นที่และอาณาเขต เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ประมาณ 68.97 ตารางกิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น ที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำตาปีไหลผ่านภายในเขตเทศบาล โดยมีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบางชนะ ตำบลคลองฉนากและตำบลท่าทองใหม่
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลวัดประดู่ และตำบลขุนทะเล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาท่าเพชร และอำเภอกาญจนดิษฐ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบางชนะ ตำบลบางใบไม้ และตำบลวัดประดู่
มี 3 เทศบาศตำบลล้อมรอบ ได้แก่
ทิศใต้ – เทศบาลตำบลขุนทะเล
ทิศตะวันออก – เทศบาลตำบลท่าทองใหม่
ทิศตะวันตก – เทศบาลตำบลวัดประดู่
ข้อมูลด้านโครงสร้างพื้นฐานเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
1. ถนนวงแหวน
ถนนวงแหวนรอบใน
ถนนวงแหวนรอบนอก
2. สะพานข้ามแม่น้ำและคลอง ภายในเขตเทศบาล
1. สะพานข้ามแม่น้ำตาปี 3 แห่ง
สะพานข้ามแม่น้ำตาปี(ตลาด-บางใบไม้)
สะพานข้ามปากน้ำตาปี(บางกุ้ง-คลองฉนาก)
สะพานคนเดินข้ามเกาะลำพู(บางใบไม้)
2. สะพานข้ามคลองท่ากูบ 3 แห่ง
ถนนสาย401
ถนนสาย417
ซอยศรีวิชัย26(มะขามเตี้ย)
3. สะพานข้ามคลองมะขามเตี้ย 3 แห่ง
ถนนสาย401
ถนนแม็คโคร-โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี(ในลึก ตัดใหม่)
สะพานข้ามคลองมะขามเตี้ย (ตลาดใหม่-ศรีวิชัย)
4. สะพานข้ามคลองท่าทอง 4 แห่ง